Custom Search

20 สิงหาคม 2552

ใครว่าการแต่งงาน หมายถึงความรัก

หากคุณคิดว่าชายหญิงแดนกิมจิสมัยนี้แต่งงานกันเพราะความรักเป็นเรื่องใหญ่ ขอบอกว่าคุณกำลังเข้าใจผิด โลกแห่งความจริงไม่ได้เป็นอย่างที่คุณเห็นในหนังรักเกาหลีหรอก
ข้อแรกที่ทำให้หนุ่มสาวเมืองโสมเข้าสู่ประตูวิวาห์ไม่ใช่ความรัก แต่ที่พวกเขาเป็นห่วงมากที่สุดคือ อุปนิสัยของคนที่เขาจะแต่งงานด้วยว่าเข้ากันได้ไหม หน้าที่การงานดีหรือเปล่า รายได้และฐานะเป็นอย่างไร นายชา ยุน-บิน เป็นตัวอย่างหนึ่งของชายเกาหลีที่พูดอย่างเปิดอกว่าเจ้าสาวของเขาต้องเป็นคนที่ใช้เงินเป็น รู้จักใช้ รู้จักออม ไม่เช่นนั้นอยู่กันไปอาจทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นหย่าขาดในที่สุด ส่วนเรื่องความรักนั้นเป็นเรื่องรอง
สำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีรายงานว่า ผู้ชายเมืองโสมกำลังคิดอย่างนี้กันมาขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สถิติการหย่าร้างในประเทศก็สูงสุดเป็นอันดับสามของโลก การที่คนหนุ่มสาวคิดเช่นนี้ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่า ไม่อยากเสียเวลาอยู่กินกับคนที่ "ไม่ใช่" ฉะนั้นก็ว่าจ้างคนอื่นให้มองหาคนที่ "ใช่" ให้ก็แล้วกัน เลยทำให้เมื่อปีที่แล้วเกิดบริษัทจัดหาคู่ในเกาหลีใต้มากถึงกว่า 1,100 แห่ง หน้าที่ของบริษัทเหล่านี้คือ รวมรวมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับอุปนิสัยใจคอ บุคลิก และฐานะทางการเงินของว่าที่คู่สมรสของลูกค้าที่มาว่าจ้าง
"ซูนู" เป็นบริษัทจัดหาคู่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ มีพนักงานทำหน้าที่ "พ่อสื่อ-แม่สื่อ" ประมาณ 100 คน เพื่อคอยดูแลลูกค้าถึง 100,000 ราย ที่ปรึกษาด้านการหาคู่คนหนึ่งบอกว่า มีหญิงและชายเกาหลีวัย 20-30 ปีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่คิดว่า หากจะแต่งงานก็ต้องการให้อยู่ด้วยกันได้ตลอดรอดฝั่ง เลยต้องรู้รายละเอียดทุกอย่างของอีกฝ่าย เช่น ภูมิหลังด้านครอบครัว ศาสนา ตลอดจนการวางแผนเรื่องการมีลูกด้วย
บางคนอาจวิจารณ์ว่า การคิดแบบนี้ออกจะ "วัตถุนิยม" มากไปหน่อย แต่หนุ่มสาวแดนกิมจิจำนวนมากยืนยันว่า กันไว้ดีกว่าแก้ ยิ่งในสภาวะที่สถิติการหย่าร้างในประเทศสูงด้วยแล้ว สำนักสถิติเกาหลีรายงานว่า เมื่อปีที่แล้วมีคู่สมรสเกาหลีถึง 170,000 คู่ที่หย่ากัน คิดเป็น 230 คู่ต่อวันทีเดียว และสาเหตุหลักที่ระบุก็คือ อุปนิสัยต่างกัน
"พ่อสื่อ" ประจำบริษัทอีกแห่ง บอกว่า การให้ข้อมูลพื้นฐานแก่ลูกค้าก่อนที่ทั้งสองจะใช้ชีวิตร่วมกันก็เท่ากับเป็นการช่วยให้ลูกค้าสามารถข้ามขั้นตอนที่ไม่จำเป็น แต่การมี "ผู้ช่วย" แบบนี้ต้องใช้เงินไม่น้อยเหมือนกัน ทั้งนี้เพราะบริษัทจัดหาคู่มีขั้นตอนเยอะ รวมทั้งการตั้งคำถามถึง 150 ข้อ เพื่อที่จะหาข้อมูลของ "ว่าที่คู่สมรส" ตั้งแต่ การศึกษา จนถึง ฐานะ ทรัพย์สิน หุ้นในครอบครอง อสังหาริมทรัพย์ และรถยนต์ โดยลูกค้าจะได้รับข้อมูลของ "ว่าที่คู่สมรส" ถึง 8 คนเป็นอย่างน้อย เพื่อเอาไปศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนตัดสินใจว่าจะเลือกจีบคนไหน
บริษัทซูนู เคยประสบความสำเร็จสูงสุดในการหาคู่ให้กับลูกสาวคนเดียวมหาเศรษฐีเกาหลี โดยใช้เวลาหนึ่งปีเต็มหลังผู้เป็นพ่อว่าจ้างบริษัทให้ทำหน้าที่พ่อสื่อ ทั้งนี้มหาเศรษฐีผู้พ่อระบุว่า ต้องการลูกเขยที่มีฐานะการเงินดี และจะต้องเข้ามาร่วมชายคาในบ้านหลังใหญ่และมีสมาชิกครอบครัวมากมายต้องเข้ากับเขาได้ด้วย
"เรื่องแบบนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว คนรุ่นเก่าอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องของคนเห็นแก่ตัวและนิยมวัตถุเอามากๆ แต่อีกแง่หนึ่งก็ถือเป็นเรื่องฉลาดและจะช่วยป้องกันการหย่าร้างได้ด้วย" คิม ซุง-วอน แห่งสถาบันสุขภาพและสังคม ให้ความเห็น ท่ามกลางความห่วงใยของบางคนที่กลัวว่า ช่องว่างทางเศรษฐกิจสังคมของผู้คนจะกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ หากหนุ่มสาวเกาหลีจะเข้าประตูวิวาห์โดยใช้ฐานะทางสังคมเป็นตัวตัดสิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น